เตือนผู้ปกครองระวังเด็กจมน้ำในวันลอยกระทง |
![]() |
![]() |
![]() |
เขียนโดย assddf |
วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน 2012 เวลา 09:51 น. |
“วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำในคลองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชาย หญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง” เสียงเพลงนี้ดังขึ้นที่ไร เป็นสัญลักษณ์บ่งได้ว่า เทศกาลลอยกระทง ได้เวียนครบมาบรรจบอีกหนึ่งปีแล้ว ซึ่งในปีนี้ต้องกับวันที่ 28 พ.ย. หลายคนต่างหาสถานที่เพื่อเตรียมตัวไปสนุกสนานกันในวันดังกล่าว แต่พึงระวัง...!!! เมื่อเทศกาลดีงาม สนุกสนานแบบไทยๆ เราในปัจจุบันนี้ กำลังกลายเป็นเทศกาลแห่งการสูญเสียและเศร้าโศก...........กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองระวังเด็กจมน้ำในวันลอยกระทง หลังพบสถิติปี 2554 เพียงคืนเดียวของวันลอยกระทงจมน้ำเสียชีวิต 21 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 10 คนหรือสูงเป็น 3 เท่าของวันปกติ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันลอยกระทงในปี 2555 นี้ ตรงกับวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน ซึ่งในวันลอยกระทงทุกปีจะมีคนจมน้ำเสียชีวิตจำนวนมาก ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข จึงมีความห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ซึ่งสถิติใน 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2545-2554) พบว่าการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทย (อายุต่ำกว่า 15 ปี) โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 1,352 คน และในวันลอยกระทงเด็กก็จะมีความเสี่ยงต่อการตกน้ำ จมน้ำมากขึ้นกว่าในช่วงวันปกติ เนื่องจากต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือต้องเดินทางทางน้ำ และจากการที่มีผู้คนเดินเบียดเสียดกันจำนวนมาก อาจทำให้พลัดตกลงไปในน้ำได้ง่าย จึงขอเตือนประชาชนที่จะพาบุตรหลานไปลอยกระทงให้เพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง จากข้อมูลการเสียชีวิตจากการจมน้ำ ของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค และสํานักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ พ.ศ.2550-2554) ในวันลอยกระทงวันเดียวมีคนจมน้ำเสียชีวิต 102 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 40 คน คิดเป็น 39.6 % ของทุกกลุ่มอายุ สำหรับในปี 2554 เฉพาะวันลอยกระทงวันเดียวมีคนจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 21 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ประมาณครึ่งหนึ่ง คือ 10 คน หรือสูงเป็น 3 เท่าของวันปกติ (วันปกติเฉลี่ย 3 คนต่อวัน) ซึ่งเด็กที่จมน้ำในช่วงวันลอยกระทงมักมีความเกี่ยวข้องกับการที่เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำและพลัดตกลงไป นอกจากนี้ยังมีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่ลงไปเก็บกระทงหรือเก็บเงินในกระทง ด้านดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลที่ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวมาข้างต้น ในปี 2555 นี้ ประชาชนจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการไปลอยกระทงเพราะเสี่ยงต่อการจมน้ำและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้เมื่อตกน้ำ จึงขอแนะนำวิธีการปฏิบัติ ดังนี้ 1. ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เมื่อเด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือยืนใกล้ขอบบ่อ/สระ เพราะอาจพลัดตกลงน้ำได้ 2. เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เด็กต้องอยู่ในระยะที่คว้าถึง การหันไปทำกิจกรรมต่างๆ เพียงเสี้ยววินาที โดยปล่อยให้เด็กลอยกระทงตามลำพังในกะละมัง หรือถังน้ำ ก็อาจทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้ และหากเป็นกลุ่มเด็กอายุ 3-5 ปี เด็กต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและเข้าถึงทันเวลา 3. ไม่ปล่อยให้เด็กลงไปเก็บกระทงหรือเก็บเงินในกระทงที่ลอยในน้ำ ผู้ปกครองควรห้ามหรือไม่ปล่อยให้เด็กลงไปเก็บกระทงอย่างเด็ดขาด เด็กอาจจมน้ำ เนื่องจากเป็นตะคริวเพราะอยู่ในน้ำเป็นเวลานานและสภาพอากาศหนาวเย็นด้วย 4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดพื้นที่ที่ชัดเจนสำหรับการลอยกระทงและจะต้องทำสิ่งกั้นขวางเพื่อป้องกันเด็กตกในน้ำ และควรมีผู้ดูแลพร้อมทั้งเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือที่หาได้ง่ายไว้ในบริเวณดังกล่าว 5. ผู้จัดการพาหนะทางน้ำ ต้องเตรียมชูชีพสำหรับผู้โดยสารให้พร้อมทุกคน รวมทั้งพิจารณาจำนวนผู้โดยสารว่ามากเกินไปหรือไม่ ก่อนที่จะใช้บริการทางเรือ เพื่อไปลอยกระทงกลางแม่น้ำ 6. หากพบคนตกน้ำ ควรช่วยเหลือ ดังนี้ 1) การช่วยคนตกน้ำขึ้นมาจากน้ำ ต้องรู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง และห้ามกระโดดลงไปช่วยอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้ถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน จึงควรมีวิธีการช่วยดังนี้ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ตะโกน : เรียกให้คนมาช่วยและโทร 1669 โยน : หาอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวสำหรับโยนไปช่วยคนตกน้ำ เช่น ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า อุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ (โยนพร้อมกันครั้งละหลายๆ ชิ้น) ยื่น : หาอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวยื่นให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ กิ่งไม้ 2) หากช่วยคนตกน้ำขึ้นมาจากน้ำแล้ว ถ้าผู้ป่วยยังรู้สติดีและหายใจได้ดี ให้ผู้ป่วยนอนราบกับพื้น เช็ดตัวให้แห้งและให้ความอบอุ่น ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัว แต่ไอและอาเจียนให้ผู้ป่วยนอนตะแคงคว่ำ เพื่อให้อาเจียนและเสมหะไหลออกได้ง่าย เช็ดตัวให้แห้งและให้ความอบอุ่น แต่หากผู้ป่วยหมดสติ ไม่หายใจ และไม่กระดุกกระดิกเลยหรือคลำชีพจรไม่ได้ ให้ช่วยฟื้นคืนชีพโดยการเป่าปากติดต่อกันหลายๆ ครั้งและนวดหัวใจ โดยการกดที่บริเวณกลางหน้าอก ลึกประมาณ 1-1.5 นิ้ว ความถี่ 100 ครั้งต่อนาที ที่สำคัญต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านหรือโทรแจ้ง 1669 โดยเร็วที่สุด และต้องนำส่งโรงพยาบาลทุกราย หากสงสัยในวิธีปฏิบัติ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 >>>> ลอยกระทงปีนีั มีสติ ปลอดเหล้า ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อมนะค่ะ ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข |






![]() |
Today | 83 |
![]() |
Yesterday | 123 |
![]() |
This week | 459 |
![]() |
Last week | 1224 |
![]() |
This month | 1683 |
![]() |
Last month | 6978 |
![]() |
All days | 80861 |
Your IP: 207.241.237.107
Mozilla 5.0,
Today: ธ.ค. 10, 2013